Data-Driven Marketing คืออะไร? สรุปขั้นตอนการทำ Step-by-Step
ปฏิเสธไม่ได้ว่า หัวใจสำคัญของการทำธุรกิจในยุคนี้ ก็คือการนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะในด้านการทำการตลาด เพราะข้อมูลคือสิ่งที่จะช่วยให้เราเข้าใจถึงความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า และช่วยให้เราสามารถออกแบบแคมเปญการตลาด หรือพัฒนาสินค้าและบริการให้ตรงใจลูกค้าได้มากที่สุด
บทความนี้ชวนมาทบทวนถึงความสำคัญของ Data-Driven Marketing การตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล เพื่อช่วยให้ธุรกิจเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมสรุปขั้นตอนการทำ Data-Driven Marketing ฉบับเข้าใจง่าย แค่อ่านจบก็เริ่มทำได้ทันที!
ทบทวนกันก่อน Data-Driven Marketing คืออะไร?
Data-Driven Marketing หรือการตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล คือ กลยุทธ์การตลาดที่ใช้ข้อมูลเชิงลึกของลูกค้าเพื่อตัดสินใจและดำเนินการ ต่างจากการใช้วิธีการแบบดั้งเดิมที่อาศัยสัญชาตญาณ ประสบการณ์ หรือการคาดเดา โดยกลยุทธ์นี้กำลังกลายเป็นแผนสำคัญสำหรับธุรกิจในยุคปัจจุบัน เพราะช่วยให้นักการตลาดเข้าใจลูกค้า ตัดสินใจอย่างชาญฉลาด และสร้างผลลัพธ์ที่วัดผลได้
ทั้งนี้ หัวใจสำคัญของ Data-Driven Marketing คือ
- การรวบรวมข้อมูล: ข้อมูลลูกค้าสามารถเก็บรวบรวมได้จากหลายแหล่ง เช่น เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย แอปพลิเคชัน CRM ระบบการชำระเงิน ฯลฯ
- การวิเคราะห์ข้อมูล: ข้อมูลลูกค้าสามารถวิเคราะห์ผ่านการใช้เครื่องมือและเทคนิคต่าง ๆ เพื่อหาความหมาย รูปแบบ และแนวโน้ม (Trend)
- การนำข้อมูลไปใช้: ข้อมูลเชิงลึกสามารถนำไปปรับใช้กับกลยุทธ์การตลาดต่าง ๆ เช่น การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย การออกแบบเนื้อหา การเลือกช่องทางการสื่อสาร การวัดผล ฯลฯ
จุดเด่นของ Data-Driven Marketing
Data-Driven Marketing หรือกลยุทธ์การตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลมีจุดเด่นหลัก ๆ ดังนี้
1. เพิ่มประสิทธิภาพในการทำการตลาด
Data-Driven Marketing ช่วยให้นักการตลาดเข้าใจถึงความต้องการ พฤติกรรม และความสนใจของลูกค้าได้อย่างลึกซึ้ง สามารถระบุกลุ่มเป้าหมายที่ใช่และมีศักยภาพ ทำให้ออกแบบเนื้อหาที่ตรงใจและดึงดูดความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย ทั้งยังช่วยให้นักการตลาดเลือกช่องทางการสื่อสารที่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ดี รวมไปถึงยังง่ายต่อการวัดผลลัพธ์และติดตามความสำเร็จของแคมเปญได้อย่างเป็นรูปธรรม จึงเป็นวิธีเพิ่มประสิทธิภาพทางการตลาดได้ดีอีกวิธีหนึ่ง
ตัวอย่างเช่น
- Netflix: ใช้ข้อมูลการรับชมเพื่อแนะนำภาพยนตร์และซีรีส์ที่ตรงกับรสนิยมของผู้ใช้งาน
- Amazon: แนะนำสินค้าที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าตามประวัติการค้นหาและพฤติกรรมการสั่งซื้อ
2. จัดสรรงบประมาณได้อย่างคุ้มค่า
Data-Driven Marketing ช่วยให้นักการตลาดจัดสรรงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะหากมีข้อมูลเชิงลึก ก็สามารถเลือกทุ่มทรัพยากรไปยังกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพโดยเฉพาะ ทั้งยังช่วยให้ระบุช่องทางการสื่อสารที่มีข้อมูลยืนยันว่าสร้างผลลัพธ์ได้จริง ทำให้สามารถติดตามผลลัพธ์และปรับงบประมาณได้อย่างเหมาะสม
ตัวอย่างเช่น
- Facebook Ads: ใช้ข้อมูลประชากรศาสตร์ ความสนใจ และพฤติกรรม กำหนดกลุ่มเป้าหมายสำหรับโฆษณา ทำให้ไม่ต้องหว่านเงินไปยังทุกกลุ่มเป้าหมาย
- Google Ads: ใช้ Keyword Research และกลยุทธ์การเสนอราคา (bidding strategies) เพื่อระบุกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการใช้งบโฆษณาโดยเฉพาะ
3. สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า
Data-Driven Marketing ช่วยให้เข้าใจความต้องการของลูกค้าและนำเสนอสินค้าและบริการ หรือประสบการณ์แบบเฉพาะบุคคล (Personalized) ทำให้สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าได้
ตัวอย่างเช่น
- Starbucks: เสนอโปรโมชันและส่วนลด ให้ลูกค้าเฉพาะบุคคลผ่านแอปพลิเคชัน
- Sephora: แนะนำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่เหมาะกับสภาพผิวและความต้องการของลูกค้าแต่ละคน
4 ขั้นตอนการทำ Data-Driven Marketing ทำตามได้แบบ Step-by-Step
สำหรับใครที่อยากลองใช้กลยุทธ์ Data-Driven Marketing สามารถเริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยการทำตามขั้นตอนเหล่านี้!
1. ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน
หัวใจสำคัญของกลยุทธ์ Data-Driven Marketing คือการ "ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน" เพราะจะทำให้รู้ว่าต้องเก็บข้อมูลเรื่องอะไร และเลือกตัวชี้วัดหรือ KPIs (Key Performance Indicators) ที่เหมาะสมอย่างไร ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดทิศทาง กลยุทธ์ และวิธีการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตัวอย่างเป้าหมายที่นักการตลาดนิยมใช้ใน Data-Driven Marketing ประกอบด้วย:
- เพิ่มยอดขาย: มุ่งเน้นไปที่การกระตุ้นการซื้อ เพิ่มจำนวนลูกค้า และขยายฐานลูกค้าใหม่ เช่น เพิ่มยอดขายสินค้า X 20% ภายใน 3 เดือน
- สร้างการรับรู้ (Brand Awareness): มุ่งเน้นไปที่การสร้างการรับรู้แบรนด์ เพิ่มการมองเห็นในตลาด และสร้างความจดจำ เช่น เพิ่มจำนวนผู้ติดตามบนโซเชียลมีเดีย 50% ภายใน 6 เดือน
- เพิ่มการมีส่วนร่วมของลูกค้า (Customer Engagement) : มุ่งเน้นไปที่การสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า กระตุ้นการมีส่วนร่วม และสร้างความสัมพันธ์ที่ดี เช่น เพิ่มอัตราการคลิก (CTR) บนอีเมล marketing 10% ภายใน 1 เดือน
2. เก็บรวบรวมข้อมูลจากช่องทางต่าง ๆ มาไว้ในที่เดียวกัน
การรวบรวมข้อมูลจากหลายช่องทางมาไว้ในที่เดียวจะช่วยให้เห็นภาพรวมของข้อมูลทั้งหมด และช่วยให้จัดเก็บได้อย่างเป็นระบบ พร้อมสำหรับการนำไปวิเคราะห์ต่อ โดยการเก็บรวบรวมข้อมูล ควรคำนึงถึงความถูกต้อง ความครบถ้วน และความสอดคล้องของข้อมูลจากหลายแหล่ง
3. จัดระเบียบและวิเคราะห์ข้อมูล
การจัดระเบียบและวิเคราะห์ข้อมูลคือการเปลี่ยนข้อมูลดิบให้เป็นข้อมูลเชิงลึก เพื่อเข้าใจพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้า จนสามารถสร้างกลยุทธ์การตลาดที่ตอบโจทย์พวกเขาได้ ทั้งนี้ สามารถใช้เครื่องมือช่วยจัดระเบียบข้อมูล เช่น
- Data visualization: เครื่องมือช่วยนำเสนอข้อมูลให้ง่ายต่อความเข้าใจ ในรูปแบบกราฟ แผนภูมิ
- Machine learning: เครื่องมือคาดการณ์พฤติกรรมลูกค้า เพื่อหาความสัมพันธ์ที่ซ่อนอยู่
- Statistical analysis: เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล หาค่าเฉลี่ย สัดส่วน และเปอร์เซ็นไทล์
4. นำข้อมูลไปใช้และติดตามผลลัพธ์อย่างใกล้ชิด
ข้อมูลเชิงลึกที่ได้สามารถนำไปใช้ต่อยอดในกลยุทธ์การตลาดต่าง ๆ ทั้งการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ใช่และมีศักยภาพ ออกแบบเนื้อหาได้ตรงใจและดึงดูดความสนใจ รวมไปถึงเลือกช่องทางการสื่อสารที่เข้าถึงลูกค้าตัวจริง อย่างไรก็ดี เมื่อดำเนินกลยุทธ์การตลาดข้างต้น ต้องไม่ลืมที่จะวิเคราะห์ผลลัพธ์ของแคมเปญ เรียนรู้จากข้อผิดพลาดและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ก็จะช่วยปรับปรุงกลยุทธ์การตลาดให้ผลลัพธ์ดีขึ้นได้
Data-Driven Marketing คือกุญแจสำคัญที่ช่วยปลดล็อกศักยภาพทางการตลาด และขับเคลื่อนธุรกิจสู่อนาคต อย่างไรก็ดี ถ้าอยากยกระดับการทำ Data-Driven Marketing ขึ้นไปอีกขั้น Zanroo มีเครื่องมือสำหรับ Social Analytics ที่สามารถรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลบนโลกออนไลน์ ช่วยให้ธุรกิจเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย และนำข้อมูลไปวางแผนต่อยอดทางการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทดลองใช้ฟรีได้แล้ววันนี้ หรือปรึกษาเราได้เลยที่อีเมล ask@zanroo.com
ข้อมูลอ้างอิง:
- What Is Data-Driven Marketing & Why Is It Important?. สืบค้นวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 จาก. https://www.semrush.com/blog/data-driven-marketing/